คำชม VS คำติ

ได้ข่าวนักร้องคนนึงซึ่งร้องเพลงได้ดีแต่ไม่ได้ดังขึ้นมาจากการร้องเพลง กลับดังขึ้นมาจากการจัดรายการที่เชิญแขกรับเชิญขึ้นรถแล้วพูดคุยเหมือนเพื่อนคุยกันจึงมีการพูดคำหยาบและมีความทะลึ่งแบบที่ผู้ชายมักจะพูดกับเพื่อน นักร้องคนนี้ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและผู้คนมักจะชื่นชมความตลกที่แฝงความหยาบคายของเค้า แต่ล่าสุดเค้าได้ทำรายการใหม่ที่มีเนื้อหาไปในทางล่อแหลมและบางคำพูดออกไปในแนว Sexual Harassment รายการนี้และนักร้องคนนี้จึงถูกโจมตีอย่างหนักจากสังคม มันทำให้เราสงสัยว่า ทำไมเค้าถึงคิดว่ารายการในแนวนี้และความหยาบคายแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้จนถึงกับทำเป็นรายการออกมา

ส่วนตัวแล้วเคยได้ไปดูโชว์ของนักร้องคนนี้ ตัวจริงเป็นคนสุภาพพูดจาดีไม่ได้หยาบคายอะไรมากมายและออกจะให้เกียรติผู้หญิง แต่เท่าที่เคยเห็นเค้าให้สัมภาษณ์จะบอกว่าคนชื่นชมในความหยาบคายถึงขนาดที่เมื่อเจอจะขอให้เค้าด่าหรือโทรเข้ารายการวิทยุที่เค้าจัดเพื่อขอให้ด่า จะสอบก็ขอให้ด่าก่อนสอบ หรือไม่ก็ขอให้ทำเสียงครางออกแนวทะลึ่งตลอด คำพูดเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนคำชมซึ่งเป็นเสียงชื่นชมในเรื่องความหยาบคายและความทะลึ่งที่เค้าได้รับมาตลอดเวลา

นี่สินะโทษของคำชม มันปิดบังความจริงทำให้มุมมองผิดเพี้ยนไป คำพูดหยาบคาย สองแง่สองง่าม เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยเฉพาะในการเป็นสื่อมวลชน แต่เพราะคำชมมากมายเหล่านั้นทำให้เค้าเห็นผิดไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นสิ่งที่คนดูชอบ ถึงขนาดทำรายการขึ้นมาใหม่เพื่อเน้นความหยาบคายและพูดจาแทะโลมผู้หญิงอย่างโจ่งแจ้ง จนนำพาให้ต้องมาโดนสังคมโจมตีอย่างหนัก

ในทางกลับกัน คำติ คำด่าจากสังคม ก็มีทั้งคำติที่ติเพื่อก่อเพื่อเตือนให้ปรับปรุง และมีทั้งที่โจมตีและด่าอย่างเสียๆหายๆเพื่อความสะใจ ซึ่งถ้าเลือกเอาคำเตือนที่หวังดีมาพิจารณาและนำมาปรับปรุงก็จะน่าจะได้ประโยชน์มาก และในท้ายที่สุดนักร้องคนนี้ก็เลือกที่จะปรับปรุงและปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งกลับกลายเป็นผลดี เสียงตอบรับจากผู้ชมดีขึ้นมาก ซึ่งถ้าหากไม่มีเสียงติเหล่านี้ รายการนี้อาจจะมีเนื้อหาเลยเถิดก่อให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตกว่านี้ก็เป็นได้

นี่แสดงว่าคำติมีประโยชน์กว่าคำชมหรือนี่ นึกถึงตัวเองแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ฉลาดเลยที่ตลอดมาต้องการแต่คำชมที่มักทำให้รู้สึกว่าตัวเองดีพอแล้ว ทำได้ดีแล้วหรือดีกว่าคนอื่น มากกว่าคำติที่ทำให้ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะคำติจากคนรอบตัว คนที่รักเรา ครูบาอาจารย์ ที่เราสามารถเชื่อได้ว่าคำตินั้นเป็นคำติเพื่อก่อ เป็นการติจากความเป็นห่วงและหวังดี และเป็นความจริงที่คนรอบข้างเห็นแต่ตัวเรามองไม่เห็นเพราะปมในใจมันปิดกั้นบิดเบือนสิ่งที่เรามองให้ผิดเพี้ยนไป

นึกถึงวันที่ลูกพูดว่าเวลาเราอยู่บ้านเราคงไม่ทำอะไรเลย จริงๆแล้วเราเองก็รู้สึกว่าเราน่าจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่านี้ ซึ่งถ้าเราไม่มัวโกรธแต่คิดตามที่ลูกพูดก็จะเห็นความจริงว่า เราเสียเวลาไปกับสิ่งไร้สาระมากเกินไป แทนที่จะนำคำพูดของลูกมาปรับปรุงและจัดสรรเวลาตัวเองให้ดีขึ้น กลับไปโทษลูกว่าพูดจาไม่ดี พูดอะไรไม่คิด เป็นความผิดลูกไปอีก นึกถึงตอนขับรถชนแล้วคุณแม่เตือนว่าต่อไปให้ระวังกว่านี้ เรากลับโวยวายใหญ่โตคิดไปว่าเราทำอะไรแม่ก็ไม่เคยเห็นว่าดีพอ มองไม่เห็นความเป็นห่วงที่อยู่ในคำเตือนนั้น แทนที่เราจะได้เห็นความจริงว่าแม่รักเราห่วงเรามาก กลับเสียเวลาไปนั่งเสียใจกับคำติคำเตือนจากคนที่จริงใจที่สุด ไม่ฉลาดเลยจริงๆ

เมื่อก่อนเราขาดความมั่นใจในตัวเอง เราจึงต้องการคำชมเพื่อมาเป็นกำลังใจให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ตอนนี้ได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราคิดหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอมันไม่เป็นความจริง ได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราเคยทำเพื่อให้ตัวเองได้รับคำชมนั้นก่อให้เกิดทุกข์แก่ตัวเองและคนรอบข้างมากแค่ไหน ได้เห็นแล้วว่าความกระหายคำชมนั้นแทรกอยู่ในทุกๆการกระทำของตนเอง ทั้งยังได้เห็นโทษที่เกิดจากคำชม ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะมองให้เห็นต่อไป คือมองให้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในคำติ คำเตือน ที่เราไม่เคยชอบฟัง มองให้เห็นประโยชน์ที่ซ่อนอยู่โดยที่ไม่ปล่อยให้ความน้อยใจว่าตัวเองไม่ดีพอมาปิดบัง และนำความจริงที่เห็นนั้นมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *