ได้ดูคลิปวิธีการเก็บไข่ปลาเช่นไข่ปลาแซลมอนที่นิยมนำมาทำซูชิหรือไข่ปลาคาร์เวียร์ ตอนดูก็รู้สึกว่าโหดร้าย ทำไมคนเราต้องทำถึงขนาดนี้เชียวหรือเพื่อจะได้กินของอร่อย เพราะสำหรับเรารู้สึกว่าไข่ปลามันไม่ได้อร่อยขนาดที่จะต้องทำอะไรแบบนี้เพื่อให้ได้มาเป็นอาหาร แต่แล้วก็เอะใจในคำว่า “ไม่อร่อย” ของตัวเอง นึกไปถึงตอนที่เคยดูคลิปการแล่ปลาของญี่ปุ่นที่มีให้เห็นทั่วไปซึ่งเป็นการนำปลาทั้งตัวมาแล่แล้วหั่นออกเป็นชิ้นๆ เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าโหดร้ายอะไรยังแอบรู้สึกว่าน่าอร่อยด้วยซ้ำ
ถ้ามองว่าปลาคืออาหาร การเก็บไข่ปลาหรือการแล่ปลาก็เป็นกรรมวิธีในการเตรียมอาหารเหมือนกัน ปลาก็เป็นปลาที่ตายแล้วเหมือนกัน แล้วทำไมความรู้สึกของเราถึงต่างกัน ดังนั้นคำว่า “ไม่อร่อย” ที่ผุดขึ้นมาในตอนดูคลิปไข่ปลาจึงน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกของเรา ของที่เราไม่ชอบมันจึงไม่อร่อย ดังนั้นภาพที่เราเห็นเค้าคว้านท้องปลาเพื่อนำสิ่งที่ไม่อร่อยออกมาจึงไม่น่าดูและโหดร้ายสำหรับเรา
สัปดาห์ที่แล้วมีกลุ่มนักร้องหญิงเกาหลีไปแสดงคอนเสริตที่เมืองไทย ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของวงเป็นคนไทยและเราก็ชอบน้องคนนี้ น้องเค้าเต้นโชว์ในคอนเสริตซึ่งเป็นที่กล่าวถึงว่าเต้นเก่ง เราก็ได้ดูคลิปที่เค้าเต้นก็เห็นด้วยว่าเต้นเก่งมาก จากนั้นก็มีนักร้องลูกทุ่งคนนึงที่เราไม่รู้จักมาเต้นตาม โดยมีคลิปเทียบกันให้เห็นว่าเต้นท่าเดียวกันเป๊ะๆ แต่ความรู้สึกของเราเมื่อได้ดูคือ น่าเกลียด ไม่สวยเลย ทั้งๆที่เต้นท่าเดียวกันแต่ความรู้สึกของเราที่มีต่อคนเต้นทำให้เรามองเห็นไปว่า คนนึงเต้นสวยมากแต่อีกคนนึงเต้นน่าเกลียด
นั่นแสดงว่าความชอบหรือไม่ชอบเป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของเราต่อสิ่งนั้นหรือแม้กระทั่งต่อคนนั้นๆ เช่นกับลูกคนโต เราจะไม่ชอบการเถียงหรือการพูดสวนขึ้นมาตอนเรายังพูดไม่จบ ส่วนลูกคนเล็กเราจะไม่ชอบการถามแล้วไม่ตอบหรือตอบปัดๆไปว่าไม่รู้ ดังนั้นถ้าลูกคนเล็กเถียงหรือพูดสวนเราจะไม่โกรธ หรือถ้าถามอะไรคนโตแล้วไม่ตอบหรือตอบว่าไม่รู้ เราก็จะไม่โกรธเหมือนที่โกรธคนเล็ก นี่เราเลี้ยงลูกและปฏิบัติต่อลูกตามความชอบของเราไม่ใช่จากสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำหรือนี่ แทนที่จะสอนว่าเมื่อมีผู้ใหญ่พูดด้วยหรือถามคำถามก็ควรจะตอบเมื่อคำถามจบ ที่เราทำคือกับลูกคนนึงเราสอนว่าเถียงได้แต่กับอีกคนกลับสอนว่าห้ามเถียง แล้วลูกจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกันแน่
นอกจากนั้นความชอบหรือไม่ชอบก็จะมีผลต่อการกระทำที่เราจะทำต่อจากเหตุการณ์นั้น เช่น เมื่อเร็วๆนี้มีเพื่อนมาตำหนิลูกของเรา บังเอิญว่าเพื่อนคนนี้คือเพื่อนสนิทที่เราถูกใจ ถึงจะไม่พอใจในตอนแรกแต่ก็เราพยายามมองให้เห็นความจริงว่าเป็นอย่างที่เค้าพูดจริงหรือไม่ มองให้เห็นเจตนาของผู้พูดและหาทางแก้ไข แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบ เช่น เมื่อเร็วๆนี้เห็นคนที่เราไม่ชอบโพสเฟสบุคว่าคนอื่น ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกับเราเลยแต่เราก็ไม่ชอบและไม่พยายามมองหาความจริงใดๆทั้งนั้น จนถึงขนาด unfollow ไปเพื่อจะได้ไม่ต้องเห็นสิ่งที่เค้าโพสอีก
นี่แสดงว่าความชอบหรือไม่ชอบ มันเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลาและมีอิทธิพลกับการกระทำ การตัดสินใจของเรามากอย่างที่เรานึกไม่ถึง ต่อไปเมื่อเกิดความรู้สึกอะไรก็ตาม จะพยายามสังเกตุตัวเองว่าความรู้สึกนั้นเกิดจากความชอบหรือไม่ชอบอะไรหรือใคร ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเราในทำนองเดียวกับที่เราเห็นตัวเองในเรื่องการตอบคำถามของลูก เพื่อนำไปปรับปรุงตัวเองต่อไป