ของมีน้อย ย่อมอร่อยกว่าปกติ

วันนี้ไปซื้อของที่ supermarket ระหว่างเดินเลือกของผ่านช่องที่มีขนมหลากหลายที่แบ่งเป็นห่อเล็กๆสำหรับเทศกาลฮาโลวีน ก็นึกขึ้นมาได้ว่า คราวก่อนๆที่เราเดินทางมาอเมริกาซึ่งเป็นการเดินทางมาชั่วคราว ก่อนกลับเราจะต้องมาหาซื้อขนมพวกนี้กลับไทย เพราะเมื่อเอากลับไปทานแล้วมันอร่อยมาก ต่างจากของที่วางขายในเมืองไทย ดังนั้นเราจะซื้อกลับไปทีละมากๆ ทุกครั้ง แต่คราวนี้ เมื่อเรามาใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาและเดินผ่านขนมเหล่านี้ เรากลับไม่รู้สึกอยากซื้อ ไม่รู้สึกอยากทาน และไม่ได้ซื้อกลับบ้านเลยซักชิ้น ในตอนนี้ สิ่งที่อร่อยมากสำหรับเราก็คือ น้ำพริกต่างๆ ที่เราเอามาจากเมืองไทย ขนมไทย หรือแม้แต่ขนมขบเคี้ยวของไทยที่เรานำมา ต้องค่อยๆทานเพราะกลัวหมดเร็ว ถ้าไปซื้อของที่ร้านจีน แล้วเห็นผลไม้ไทย เช่น มังคุด ทุเรียน มะม่วง  ลิ้นจี่ จะอยากทานอยากซื้อมาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นนะ

 

ได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง เจ้าหญิงให้ขนมเด็กยากจน แต่ให้เพียงชิ้นเดียว องครักษ์ก็ถามว่าทำไมไม่ให้มากกว่านั้น องค์หญิงตอบว่า “เพราะของมีน้อย ย่อมอร่อยกว่าปกติ” เห็นจะจริง ขนมใน supermarket ที่เราเห็น มีอยู่มากมาย และมีวางขายตลอด จะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ในขณะที่ของจากเมืองไทย ที่เรานำมานั้น มีน้อย เราจึงรู้สึกว่าอร่อยกว่าปกติ แสดงว่า ความอร่อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรสชาติของขนมเพียงอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ใจเรา ให้ค่า ให้ความสำคัญ กับสิ่งไหนมากกว่ากัน นี่ก็แสดงว่า ของที่มีน้อยถึงแม้จะไม่มีค่าอะไร แต่เพราะความที่มีน้อย ทำให้มันมีคุณค่าขึ้นมา ในทางกลับกัน ของที่มีคุณค่า แต่ถ้ามันมีมากเกินไป เกินความต้องการ ก็จะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้เช่นกัน

 

มานึกถึงเรากับลูก ตอนเด็กๆ เราค่อนข้างขาดความรักความเอาใจใส่ เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจเรา และเมื่อเรามีลูก เราจึงทุ่มเทเวลาในการดูแลลูกอย่างเต็มที่ แต่หลายๆครั้ง เรารู้สึกว่า ลูกไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำหรือความรักความห่วงใยที่เรามีให้เค้าเลย ถ้าเป็นเราแล้วแม่เรามีเวลาคอยดูแลแบบนี้คงจะดี อ้าว!!! ตกลงสิ่งที่เราให้ลูกเนี่ย คือของที่มีน้อยของเราสินะ แต่มันใช่สิ่งที่ลูกต้องการหรือ? เราทุ่มเทแรงกายแรงใจในการดูแลลูก ถามว่า ตั้งแต่ลูกเกิดมา เค้าเคยขาดอะไรบ้าง เค้าเกิดมาในครอบครัวที่พร้อมดูแล ไม่เคยขาดความรักความอบอุ่น ดังนั้น ความรักความห่วงใยจากพ่อแม่ ไม่ใช่ของมีน้อยสำหรับเค้าเลย ในเมื่อเค้าไม่ได้ขาด แต่เราก็ยังจะพยายามให้เพราะเราคิดไปเองว่าเป็นของมีน้อยของลูก เราพยายามยัดเยียดให้เค้ามากเกินไป ผ่านการสอน การเตือน การทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ เหล่านี้มันมากเกินจนทำให้สิ่งที่เราให้กลายเป็นสิ่งไม่มีค่าไปเลยรึเปล่า

 

ในทางกลับกัน เราเคยทำให้สิ่งที่ไม่มีค่าอะไร กลายเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมาบ้างไม๊ ก็นึกถึงเรื่อง wifi ขึ้นมาทันที เมื่อลูกมีโทรศัพท์ เราไม่อยากให้ลูกใช้โทรศัพท์มากเกินไป เราจึงสร้างกฏเกณฑ์ต่างๆในการใช้โทรศัพท์ มีเวลา เปิด-ปิด wifi ที่ชัดเจน ดูแล้วก็น่าจะเป็นวิธีที่ดี แต่ปรากฏว่า เมื่อกลับถึงบ้าน ลูกจะขลุกอยู่ในห้องเพื่อเล่น internet เพื่อ chat กับเพื่อน จะลงมาเพื่อทานอาหารเท่านั้น แล้วก็รีบทานรีบไป เพื่อจะเล่นให้ได้มากที่สุดก่อนจะถึงเวลาปิด wifi พอปิดเทอม ลูกมาขอว่าไม่ปิด wifi ได้ไม๊ ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่า ถึงเราจะควบคุมเค้าด้วยการจำกัดเวลาในการเล่น แต่ที่สุดแล้ว เค้าก็จะต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักพอด้วยตัวเอง จึงอนุญาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ลูกลงมานั่งคุยกับพ่อแม่มากขึ้น มานั่งดูทีวีกับน้อง มานั่งคุยเล่นกับน้อง ทานข้าวเสร็จก็ไม่รีบขึ้นห้องเหมือนเคย เราได้เจอลูกมากกว่าตอนที่เราจำกัดเวลาในการเปิด-ปิด wifi เสียอีก นี่หมายความว่า ที่ผ่านมาเราไปให้ค่ากับ wifi โดยการทำให้มันมีน้อย กลายเป็นทำให้มันมีค่าสำหรับลูกขึ้นมาอย่างนั้นหรือ???

 

จากนี้ไป เราจะไม่เอาของมีน้อยของเรา ไปเป็นของมีน้อยของลูกอีก ต้องหัดมองในมุมของลูกบ้าง เพราะลูกไม่เหมือนเรา เติบโตมาต่างกัน ความต้องการจึงต่างกัน ต้องคอยสังเกตุว่าเค้าต้องการอะไร แล้วคอยให้ในสิ่งนั้นจะดีกว่าให้ในสิ่งที่เค้าไม่อยากได้ เช่น ให้ความเชื่อใจ คอยรับฟังไม่ใช่คอยแต่จะสอนอย่างเดียว แสดงออกถึงความห่วงใยที่ไม่ใช่การเตือน คอยให้กำลังใจ เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนั้น เราจะไม่ให้ค่าสิ่งใดโดยไม่จำเป็นอีกแล้ว และบางทีเราอาจจะใช้ประโยชน์จาก “ของมีน้อย” ในการเลือกให้ค่าสิ่งที่เราต้องการให้ลูกเห็นคุณค่าก็เป็นได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *