วิธีการของธรรมะสายปัญญาที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาระหว่างตัวเองกับลูกที่ใช้เป็นประจำ จะพิจารณาตามนี้
- พิจารณาความไม่เที่ยง ในทุกๆเรื่องที่เราทำให้ลูก เช่น ทำอาหารเช้าให้ลูก เราจะหวังว่าลูกจะทาน ลูกจะชอบ แต่ถ้าลูกไม่ทานเราจะทุกข์ทันที ซึ่งทุกข์นี้เกิดจากการปักเที่ยงว่า สิ่งที่เราทำต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก หลังจากได้เรียนเรื่องความไม่เที่ยง เราจะต้องคิดถึงความเป็นไปได้ในทั้งสองด้านเสมอ ทำให้เราเตรียมพร้อมที่จะรับมือ และไม่ผิดหวังจากการปักเที่ยง เช่นเรื่องอาหารเช้า มันมีความเป็นไปได้ที่ลูกจะไม่อยากทาน ถ้าลูกไม่ทานเราจะทำอย่างไร มีอย่างอื่นให้เลือกหรือเปล่าหรือจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่สำคัญ ทำให้เราพึงระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราทำไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกเสมอไป
เราควรใช้การพิจารณาความไม่เที่ยงกับทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความชอบ ความพอใจ ความอร่อย หรืออะไรที่เป็นลักษณะเฉพาะ ไม่มีใครเหมือนใคร เราชอบแบบนี้ ไม่จำเป็นที่ลูกจะต้องชอบเหมือนเรา ต้องพิจารณาความไม่เที่ยงให้มาก เพียงพิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงอย่างเดียว ก็ลดเรื่องราวความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้มากมายทีเดียว
- พิจารณา ทุกข์ โทษ ภัย การพิจารณานี้เป็นตัวกระตุ้นให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเล็งเห็นผลร้ายที่จะเกิดขึ้น ก่อนหน้าที่จะรู้จักการพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัย เราจะไม่เคยยอมรับเลยว่าเราต้องเปลี่ยน เราคิดแต่เพียงว่า เราเป็นแม่ เรามีหน้าที่อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นแบบที่เราต้องการ ที่เราทำไปเพราะเราหวังดี เราทำถูกแล้ว แต่เมื่อเราได้นึกถึง ภัยร้ายแรงที่สุดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ มันทำให้เราสะอึก มันทำให้เรากลัวและอยากที่จะเปลี่ยน เปิดใจที่จะค่อยๆหาว่า เราทำผิด หรือพลาดตรงไหน เพื่อแก้ไข
เทคนิคเพิ่มเติมจากทุกข์ โทษ ภัย ที่ใช้บ่อยคือ เมื่อเจอทุกข์จะนึกย้อนไปถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเริ่องนี้ และค่อยๆหาว่า เราทำผิด หรือ พลาดตรงไหนบ้าง เช่น หากเราทะเลาะกับลูกบ่อยๆ เราจะค่อยๆนึกย้อนไปว่า ทะเลาะเรื่องอะไร ก่อนที่จะทะเลาะมีเหตุการอะไร เริ่มทะเลาะกันตอนไหน และนึกย้อนไปหลายๆเหตุการณ์ ว่ามีอะไรคล้ายกันบ้าง บ่อยครั้งเมื่อนึกย้อนไป เรากับลูกจะเริ่มทะเลาะกันเมื่อลูกรู้สึกว่า เราเริ่มจะสอน เช่น เมื่อลูกมาเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง แล้วเราให้ความเห็นทำนองสอนว่า ลูกต้องทำแบบนี้สิ แบบนั้นสิ จะเกิดเรื่องทันที มานั่งคิดต่อว่าทำไมลูกไม่พอใจ สุดท้าย ได้ข้อสรุปว่า ลูกอยากให้เราฟัง ไม่ได้อยากให้เราสอน เราสอนในเวลาที่ไม่ควรจะสอนเอง เราผิดเอง
- การน้อม เป็นการเปิดตาเราให้กว้างขึ้นไปอีก โดยการมองคนอื่นแล้ว มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ธรรมชาติของคนเรามักมองเห็นความผิดของคนอื่นก่อนเสมอ เวลาเห็นคนอื่นทำไม่ดี เราจะเห็นชัดมาก มันจะมองเห็นชัดมากกว่าเรามองความไม่ดีของตัวเอง เพราะฉะนั้น เวลาเห็นใครทำอะไร ดูละคร อ่านหนังสือ แล้วเห็นใครทำไม่ดี จะเอาเรื่องนั้นมาน้อมเข้าหาตัวเอง แล้วลองนึกเลยว่าเคยทำอย่างนี้กับใครบ้าง นึกให้ได้หลายๆเหตุการณ์ ที่สุดแล้วความชัดเจนก็จะออกมาว่า เราผิดอย่างไร และเราควรจะเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขตัวเองอย่างไร