ว่าลูกหรือว่าแม่

เมื่อวานนี้พาลูกไปเดินซื้อของที่ mall เข้าไปดูของในร้านหนึ่ง ซึ่งบริเวณที่รอจ่ายเงินจะมีของวางตามทาง ให้ดูระหว่างรอ มีกระบะหนึ่งเป็น Lint roller ที่เอาไว้กลิ้งตามเสื้อผ้าเพื่อกำจัดเศษฝุ่น มีอันนึงที่กระดาษห่อมันขาดจนถึงส่วนที่เป็นกระดาษกาว ลูกคนเล็กก็เอามาเล่นจากนั้นก็เอาไปทำให้พี่สาวที่ดูของอยู่ใกล้ๆดู ตอนนั้นก็มีพนักงานของร้านเข้ามาต่อว่าลูกเราว่า ถ้าไม่ซื้อก็อย่าแกะแบบนั้น ลูกเราก็เอามาวางที่เดิม พนักงานก็ตามมาหยิบแล้วถามเราว่า เราจะซื้อไม๊ เราก็บอกว่าไม่ซื้อพร้อมทั้งบอกว่ามันขาดอยู่แล้วตอนที่เราเห็น ลูกเราไม่ได้เป็นคนแกะ พนักงานก็ทำท่าโมโหแล้วก็เดินไป เอ้า… ทำอย่างนี้ได้ยังไง ยิ่งเห็นลูกทำท่าจะร้องไห้เพราะโดนดุและโดนกล่าวหาว่าทำของเสียหายแล้วก็ยิ่งไม่พอใจ ไม่รู้อะไรเป็นอะไรแล้วมาว่าเด็กได้อย่างไรกัน

ไม่พอใจมาก ระหว่างรอจ่ายเงินก็คิดไปในใจต่างๆนาๆ ว่าจะบอกให้ไปดูกล้องวงจรปิดเลยดีไม๊ จะได้เห็นว่าลูกเราไม่ได้ทำ จะได้มาขอโทษที่พูดจาไม่ดีใส่เราและลูก หรือจะคุยกับผู้จัดการร้านดี พอถึงคิวเราจ่ายเงิน พนักงานอีกคนที่เก็บเงินก็พูดจากับเราปกติไม่ได้มีทีท่าไม่พอใจอะไร เราก็เลยไม่ได้พูดอะไรแต่ในใจคิดแต่ว่าคงจะไม่มาร้านนี้อีก จ่ายเงินเสร็จออกมานอกร้าน เห็นลูกตาแดงๆเหมือนจะร้องไห้เพราะโดนว่าก็พอจะเข้าใจ แล้วก็เลยเกิดความสงสัยว่าตัวเราหล่ะโกรธอะไร เค้าไม่ได้มาต่อว่าเราสักนิด ทำไมถึงต้องไม่พอใจมากมาย คิดจะเอาคืนขนาดนั้นด้วย
สำรวจความรู้สึกตัวเอง ตอนได้ยินเสียงพนักงานดุเด็กแต่ยังไม่รู้ว่าดุใคร เราก็เฉยๆ พอรู้ว่าเป็นลูกของเราก็รู้สึกโกรธลูกว่าซนจนเป็นเรื่องอีกแล้ว นี่ถ้าทำของเค้าเสียหาย เราก็ต้องเสียเงินอีก แต่พอรู้ว่าลูกเราไม่ได้ทำก็ไม่พอใจพนักงานคนนั้นทันที มาว่าลูกเราแถมยังมาถามว่าเราจะซื้อไม๊ หาว่าเราเลี้ยงลูกไม่ดีไม่ว่าไม่เตือนลูกตัวเองรึไง แล้วก็ทำหน้าเหมือนว่าเราทำของเสียหายแล้วไม่รับผิดชอบอีก อ้าว… สรุปว่าเราไม่พอใจเพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อนต้องจ่ายเงินเพิ่ม และคิดว่าพนักงานมาตำหนิเราว่าไม่ดูแลลูกให้ดีนั่นเอง
นี่แสดงว่านิสัยต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเราเก่ง ต้องการคำชม ไม่ชอบให้คนตำหนิ ที่เราคิดว่าน้อยลงนั้น ยังคงเป็นอยู่มากและแสดงออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้ามองตามความเป็นจริง สิ่งที่พนักงานเห็นก็ทำให้เค้าเข้าใจไปตามที่เห็น แล้วก็ว่ากล่าวตักเตือนไปตามหน้าที่ของพนักงานร้านที่ต้องดูแลทรัพย์สินของร้าน ดีไม่ดีเค้าอาจจะต้องเป็นคนรับผิดชอบหากมีของเสียหายก็เป็นได้ ซึ่งหากคนที่ทำของเสียหายคือลูกของเรา คนที่ควรจะเป็นคนรับผิดชอบก็คือเรา แล้วพนักงานคนนั้นทำผิดตรงไหน ถ้าจะมีคนผิดก็น่าจะเป็นเราที่ไม่ได้ห้ามลูกเพราะไม่ได้คิดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ และยังมาไม่พอใจเค้าอีก จริงๆแล้วเราควรจะขอบคุณเค้าด้วยซ้ำเพราะเราเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ลูกเราได้มีโอกาสเรียนรู้จากเหตุการณ์จริงว่า การเล่นซนในร้านขายของและการนำของในร้านที่ชำรุดหรือมีร่องรอยโดนเปิดไปเล่น มันจะมีผลอย่างไร โดยที่ต่อไปเราคงไม่ต้องห้ามไม่ต้องเตือนลูกเรื่องนี้อีกเลย
ต่อไปต้องคอยระวังตัวเองให้ดี ว่านิสัยต้องการคำชมจะแสดงออกมาเมื่อไหร่ และทำให้เราไม่พอใจอะไรใครบ้าง และต้องพยายามมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามมุมของคนอื่นบ้าง ไม่ใช่มองในมุมของเราฝ่ายเดียว 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *