โดนซ้ำๆ

วันที่ต้องพาลูกไปฉีดยาซึ่งนัดไว้ตอนเลิกเรียน ลูกคนโตกลับมาจากโรงเรียนก็โวยวายใส่เรา จะไม่ไปฉีดยา ไม่พอใจที่ต้องรีบไป ไม่พอใจที่เสื้อเลอะมาจากที่โรงเรียน เราก็อารมณ์ขึ้นทันที อะไรเนี่ยอยู่ๆมาโวยวายใส่ ก็ตอบโต้ไปด้วยอาการโวยวายกลับคืนไป แต่พอเจอหมออยู่ต่อหน้าคนอื่นก็หยุดโวยวายใส่กัน จากนั้นก็ถามลูกว่า ไม่คิดจะขอโทษเหรอ เค้าก็ขอโทษ เรื่องก็จบ

วันต่อมาเป็นวันหยุดอยู่บ้าน ทานอาหารกลางวันเสร็จก็พักผ่อนฟังเพลง อารมณ์ดีกันทุกคน อยู่ๆลูกคนโตก็ออกจากห้องมาโวยวายใส่เราอีก ว่าที่ชาร์จแบตโทรศัพท์เสีย แม่ต้องไปซื้อให้ใหม่เดี๋ยวนี้ พูดอะไรก็ไม่ฟัง เอาแต่โวยว่าต้องได้เดี๋ยวนี้ เรื่องที่เกิดเมื่อวานก็กลับเข้ามาในหัวมารวมกับเรื่องนี้ เกิดเป็นความรู้สึกว่า อีกแล้วเหรอ เราโดนอีกแล้วเหรอ เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่มาโวยใส่เราอีกแล้วเหรอ แล้วก็ตอบโต้ด้วยการโวยวายกลับไป พร้อมขู่ว่าจะกลับไทย ถ้าต้องเจอแบบนี้ทุกวันไม่อยู่แล้ว

จากนั้นเราก็เข้าห้องไปอยู่คนเดียว ก็มานั่งคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราถึงควบคุมความโกรธไม่ได้ ตอนนั้นรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราอยู่เฉยๆ แต่ลูกไม่พอใจอะไรมาก็มาโวยใส่เรามันไม่ถูกต้อง อีกความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ ผิดหวัง นี่ลูกยังไม่เลิกนิสัยโวยวายแบบนี้อีกเหรอ เราพยายามเปลี่ยนตัวเองขนาดนี้แล้วลูกยังไม่เปลี่ยนอีกเหรอ ทุกอย่างก็ดูจะดีขึ้นแล้ว แต่จริงๆไม่ใช่เลย นี่ไง…เราปักเที่ยง เราคิดว่าเราแก้ปัญหาได้แล้ว เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้การที่ลูกโวยวายใส่เรา ลึกๆแล้วมันสั่นคลอนความมั่นใจของเรา จากที่เคยมั่นใจว่าทำดีแล้ว เปลี่ยนไปในทางที่ดีแล้ว  แต่เหตุการณ์นี้มาตอกย้ำว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ

แล้วที่เราคิดว่าเราไม่ผิดหล่ะ เราไม่ผิดจริงหรือ จากการหาหลักฐานในการบ้านอื่นๆที่ผ่านมาทำให้เราค่อนข้างเชื่อว่า ทุกข์ที่เกิดมักจะเริ่มมาจากความผิดของเรา จึงคิดว่าคราวนี้เราน่าจะมีส่วนผิดแต่ผิดตรงไหนหล่ะ นึกถึงคนที่ทำผิดแล้วไม่กล้าทำซ้ำจะเป็นเพราะอะไรได้บ้าง เป็นเพราะรู้ตัวว่าผิดจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่ควรทำเมื่อทำแล้วจะได้รับโทษ เพราะได้รับผลของการทำผิดแล้วเข็ด เพราะโทษที่ได้รับมันหนักจนไม่อยากรับอีก  นั่นคือจะไม่ทำซ้ำถ้าได้รับผลของการกระทำนั้นจริงๆ นึกทบทวนว่า ลูกเราเคยได้รับผลของการกระทำนั้นหรือไม่ ทำแล้วก็โดนแม่ดุพอขอโทษก็หายโกรธ ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหน นี่ไงความผิดของเรา เราเองที่ยอมให้ลูกทำแบบนั้นใส่เราหลายครั้งหลายคราและยกโทษให้ด้วยความที่เรารักลูกแต่เราไม่เคยสอนให้รู้ว่าผลของการกระทำเช่นนั้นในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร

นึกถึงตัวเรา หลายครั้งที่โดนเอาเปรียบต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำ บางครั้งรู้สึกว่าทำไมไม่เกรงใจกันบ้าง ถามว่าคนที่ทำอย่างนั้นทำซ้ำๆเพราะอะไร ก็เพราะเคยทำและทำแล้วก็ไม่เห็นมีผลเสียอะไร เราก็ดูจะเต็มใจทำให้แล้วทำไมจะทำอีกไม่ได้ นี่ไง เราเองที่ยอมให้เค้ามาเอาเปรียบ ตราบใดที่เราไม่พูดไม่บอกว่าเราไม่ชอบไม่พอใจ เราก็จะโดนซ้ำๆอยู่อย่างนั้น อย่างนี้แล้ว ใครกันแน่ที่ผิด

ในโลกของความจริง ถ้ามีใครมาโวยวายใส่เราขนาดนี้จะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเรามีเจ้านายเอาแต่โวยวายแบบนี้ เราคงไม่อยากสนใจไม่ยุ่งไม่อยากพูดด้วย เลี่ยงได้คงเลี่ยง แต่ยังคงต้องทำงานให้เพราะเป็นหน้าที่ หรือหากมีเพื่อนมาทำแบบนี้เราคงเลิกคบ นี่คือความจริง คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ดังนั้นการให้บทเรียนในวันนั้นก็คือการแสดงให้เห็นถึงผลของการกระทำ ไม่โวยวายไม่โมโห ทำทุกอย่างปกติ สิ่งที่หายไปคือความอ่อนโยน ความใส่ใจ การพูดคุยที่เคยมีให้  เหลือแต่คนที่ต้องอยู่ทำหน้าที่เท่านั้น ใช้วิธีพูดคุยกับสามีต่อหน้าลูกในสิ่งที่เรารู้สึก สิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราอยากให้ลูกเข้าใจ ว่าความรู้สึกที่เสียไปคงไม่สามารถกลับมาได้เพียงแค่คำขอโทษ เมื่อไหร่ที่เห็นว่าเข้าใจ รู้สึกผิดจริงๆ และจะไม่ทำอีก เมื่อนั้นถึงจะให้อภัย

นี่เราทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูกด้วยการเลี้ยงลูกให้อยู่ในโลกของความไม่จริง ในโลกที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดอย่างนั้นหรือ ต่อไปนี้จะสอนลูกให้อยู่ในโลกของความจริง ให้ลูกได้เห็น ทุกข์ โทษ ภัย ของการกระทำด้วยตัวเองแทนการเตือนการสอนแบบที่เคยทำ เพราะตอนนี้รู้แล้วว่าการโดนซ้ำๆของเรานั้นเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่การที่ลูกจะกลายเป็นคนที่ทำผิดซ้ำๆ อย่างไม่กลัวผลของความผิด ซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยงดูของเรานั้น น่ากลัวกว่าหลายเท่านัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *