นางงามจักรวาล

ติดตามข่าวผู้เข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาลจากประเทศไทย ได้ดูถ่ายทอดสดการประกวดและร่วมลุ้นไปด้วย เพราะปีนี้ได้เข้ารอบลึกถึงรอบ 6 คนสุดท้าย ตอนที่ประกาศว่าได้เข้ารอบก็เฮลั่นดีใจยกใหญ่ ระหว่างที่ดีใจก็เกิดเอะใจขึ้นมาว่า นี่เราดีใจเพราะอะไร นั่งดูความรู้สึกตัวเองก็พบว่า เรารู้สึกว่านางงามจากประเทศไทยคนนี้สวยมาก สวยกว่าผู้เข้าประกวดชาติอื่น ใส่ชุดประจำชาติก็สวยยิ่งใหญ่อลังการ ใส่ชุดราตรีก็สวยสง่า เมื่อพิธีกรประกาศผู้เข้ารอบ 3 สุดท้ายแล้วไม่มีประเทศไทย ความรู้สึกแรกคือไม่ยุติธรรมเลย ตัวแทนของไทยสวยกว่าเห็นๆ แล้วก็ต้องชะงักและถามตัวเองว่า ที่เราเห็นว่าเค้าสวย เค้าดีกว่าคนอื่นเพราะเค้าเป็นตัวแทนของประเทศไทยใช่หรือไม่

ถ้ามองจากความเป็นจริง ผู้เข้าประกวดทุกคนทุกชาติสวยมากทุกคน การที่ได้เป็นตัวแทนระดับประเทศเพื่อมาประกวดย่อมไม่ธรรมดา ชุดประจำชาติของแต่ละชาติก็สวยงามไม่แพ้กัน คนที่ออกแบบตัดเย็บชุดเหล่านั้นจากแต่ละชาติก็ต้องใช้ความสามารถในการทำชุดออกมาอย่างดีที่สุดเหมือนกัน ชุดราตรีของแต่ละคนที่ใส่ออกมาเดินประกวดก็สวยงามอลังการไม่แพ้กัน ถ้ามองโดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละคนมาจากประเทศอะไร เราคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครสวยที่สุด แต่สายสะพายที่เขียนว่า Thailand มันทำให้ความเห็นของเราเปลี่ยนไป มันทำให้เราตัดสินไปในทันทีว่า คนนี้สวยที่สุด ดีที่สุด และคณะกรรมการที่ไม่เลือกน้องคนนี้คือไม่ยุติธรรม ซึ่งความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการไม่ผิด น้องเค้าไม่ได้ผิด คำว่า Thailand ก็ไม่ได้ผิด คนที่ผิดคือตัวเรา ที่ยึดเอาคำว่า Thailand มาเป็นของเรา ยึดประเทศไทยเป็นของเรา ยึดเอาน้องตัวแทนประเทศไทยว่าเป็นตัวแทนของเราต่างหาก

น่ากลัวจริงๆ “ตนและของของตน” ทำให้ความเห็นของเราผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวไปอย่างน่ากลัวและไม่ยุติธรรมที่สุด นึกถึงเหตุการณ์ทำนองนี้ที่เคยเกิดขึ้นก็ต้องตกใจ ตอนลูกคนเล็กอยู่อนุบาล ครูคัดเลือกไปให้เต้นประกอบเพลงในงานวันแม่ แต่มาวันนึงลูกบอกว่าโดนคัดตัวออกแล้ว เราโกรธมากเล่นงานครูที่คัดลูกเราออกจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตทั้งที่ยังไม่รู้เรื่องอะไร ซึ่งครูก็อธิบายว่า ครูถามลูกเราว่ามีชุดบัลเล่ต์ที่จะใช้แสดงรึเปล่าแล้วลูกเราตอบว่าไม่มี ครูไม่อยากให้สิ้นเปลืองก็เลยคัดตัวออก ว่ากันตามความเป็นจริงถ้าเรื่องนี้เกิดกับเด็กคนอื่น เราก็คงเห็นด้วยกับครู แต่เรื่องนี้มาเกิดกับลูกของเราเราเลยยอมไม่ได้ ไม่ฟังเหตุผลและตัดสินครูคนนั้นไปว่าไม่ดี คัดแต่เด็กห้องตัวเองและลูกของผู้ปกครองที่สนิทด้วยเท่านั้น

หรือตอนที่ลูกไปหยิกเพื่อนแล้วผู้ปกครองของเพื่อนคนนั้นไม่พอใจ เราก็ไปขอโทษพร้อมทั้งอธิบายว่าลูกเค้ามานั่งทับขาลูกเรา ลูกเราเจ็บก็เลยหยิกไปเพื่อให้เพื่อนลุกขึ้น คือเป็นการขอโทษที่ไม่ยอมรับผิดหนำซ้ำยังเข้าข้างลูกตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ไม่แปลกเลยที่คุณแม่คนนั้นจะโกรธและเลิกคบเราไปเลย ลูกเราไปทำร้ายลูกเค้าแทนที่จะสอนลูกตัวเองว่าไม่ควรทำ กลับไปกล่าวหาคนอื่นว่าทำลูกเราก่อนลูกเราไม่ผิดซะอย่างนั้น ถ้ามองตามความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ลูกเราไม่มีสิทธิไปทำร้ายคนอื่นแบบนี้  แต่เด็กก็คือเด็กแก้ปัญหาแบบเด็กๆ แต่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กลับไม่สอนไม่อธิบาย ทั้งยังทำเป็นว่าสิ่งที่เด็กทำเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้เพียงเพราะคำว่า “ลูกของเรา”

นี่ยังไม่นับเหตุการณ์ที่เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมอีกมากมายที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าคิดดูดีๆล้วนเกิดจากการที่เหตุการณ์นั้นๆ มากระทบตนและของของตนแทบทั้งนั้น เช่น เมื่อวานนี้ลูกมาบอกว่าทำบัตรขึ้นรถโรงเรียนหาย ซึ่งต้องเสียค่าทำบัตรใหม่ $25 เรารู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเพราะความสะเพร่าของลูกทำให้ต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ เพราะเงินนี้เป็นเงินของเรา หรือที่เราดุลูกที่กินข้าวหกเลอะเทอะ เพราะเราคิดว่าบ้านนี้เป็นบ้านของเราไม่อยากให้สกปรกและตัวเราก็จะลำบากต้องมาคอยทำความสะอาด ตนและของของตนทำให้มุมมองเราเพี้ยนไป การที่ลูกทำบัตรหายอาจจะไม่ได้เกิดจากความสะเพร่าอย่างเดียว การที่เราไม่พอใจทำให้เราเสียโอกาสที่จะทำให้ลูกเห็นว่าเพียงแค่มีความระวังเพิ่มขึ้นก็จะไม่ทำให้ต้องเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ การที่ลูกกินข้าวหก แทนที่จะดุลูกเราควรจะให้เค้าเก็บกวาดเองจะได้เรียนรู้ว่าการเก็บกวาดเศษอาหารมันไม่สนุก และถ้าเค้าต้องทำเองทุกครั้ง เค้าก็จะระวังมากขึ้นไปเอง

ต่อไปนี้คงต้องพิจารณาเรื่อง ตนและของของตนให้มากขึ้น และพยายามระวังผลที่จะเกิดกับมุมมองและการตัดสินใจของตัวเอง ซึ่งหวังว่า เมื่อมองเห็นตนและของของตนชัดเจนขึ้น จะทำให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้นเช่นกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *