ฟังเพลงนิทานหิ่งห้อยที่เราชอบมาก ใจความมีอยู่ว่าหิ่งห้อยไปเจอแมงมุมหลงทางตัวหนึ่งแล้วเกิดความสงสาร จึงอาสาส่องแสงให้ความอบอุ่นและนำทางแมงมุมเพื่อกลับรัง แต่เมื่อไปถึงรังแมงมุม หิ่งห้อยกลับต้องติดใยแมงมุมและตกเป็นเหยื่อของแมงมุมตัวนั้น เราจึงเกิดคำถามว่าสิ่งใดที่นำพาหิ่งห้อยให้ต้องพบเจอกับเคราะห์กรรมเช่นนี้ทั้งๆที่หิ่งห้อยมีเจตนาดีอยากช่วยเหลือผู้อื่น ตอนที่ฟังเพลงอยู่มีความรู้สึกว่าทำไมหิ่งห้อยถึงคิดว่าตัวเองมีแสงสว่างพอที่จะให้ความอบอุ่นหรือให้แสงสว่างใครได้ทั้งๆที่ตัวเองก็มีแสงเพียงน้อยนิด หรือว่าที่หิ่งห้อยต้องเดือดร้อนก็เพราะการไม่ประมาณตนและมองไม่เห็นความจริง
หิ่งห้อยมองไม่เห็นความจริงที่ว่าแมงมุมนั้นเป็นผู้ล่า ถึงแม้จะหลงทางหรือมีท่าทางเหนื่อยล้าแค่ไหน สุดท้ายแล้วก็ยังเป็นผู้ล่าและแมลงอย่างหิ่งห้อยก็มักจะตกเป็นเหยื่อของแมงมุม หิ่งห้อยมองข้ามความจริงเพราะเชื่อในท่าทีอ่อนล้าน่าสงสาร หิ่งห้อยไม่ประมาณตนว่าอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือแมงมุมได้หรือไม่ แค่เพียงเพราะตนเองมีแสงสว่างน้อยนิดก็คิดว่าเหนือกว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่ดูเหมือนจะอ่อนแอกว่าได้ การคิดไปเองและไม่ประมาณตนเช่นนี้ทำให้หิ่งห้อยมองข้ามความจริงและต้องมีจุดจบด้วยการกลายเป็นเหยื่อของแมงมุมที่ตนเองช่วยเหลือมานั่นเอง
การประมาณตน เป็นข้อหนึ่งที่สำคัญของสัปปุริสธรรม 7 ในการพิจารณาตนเองให้เห็นว่าตัวเรานั้นเหมาะสมกับสิ่งที่จะทำหรือไม่ บ่อยครั้งที่เราไม่ได้ประมาณตน แล้วทำอะไรที่เสี่ยงอันตรายไปก็มี เช่น วันนึงขับรถอยู่บนทางด่วนแล้วมีก้อนดินกระเด็นจากรถบรรทุกข้างหน้ามาโดนรถ เราไม่ได้ประมาณตนเลยว่าเป็นผู้หญิงคนเดียวและมีลูกเล็กอยู่ในรถ กลับขับไล่ตามรถบรรทุกเพื่อให้มารับผิดชอบ ซึ่งก็ลงเอยด้วยการต้องไปตกลงกันที่สถานีตำรวจ เราโชคดีที่ยังมีโอกาสได้กลับมาพิจารณาเพื่อแก้ไขตนเองแต่หิ่งห้อยในเพลงนั้นเมื่อรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก
อย่างไรก็ตามการประมาณตนนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำให้ไม่กล้าทำอะไรเลยหรือไม่กล้าช่วยเหลือใครเลย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงโดยพิจารณาความไม่เที่ยงและทุกข์ โทษ ภัย ประกอบกับการพิจารณาสถานะของตนเอง ก่อนที่จะลงมือทำสิ่งใดๆ เช่นมีเพื่อนที่เดือดร้อนเรื่องเงินมาขอความช่วยเหลือ ตัวเราเองที่ไม่ได้มีรายได้อะไรยังต้องใช้เงินของคนอื่นในการดำรงชีวิต ถึงเราจะมีเจตนาดีอยากช่วยเหลือเพื่อนแต่ถ้าเราช่วยจนเกินกำลังของเรา ก็จะทำให้ตัวเองและคนในครอบครัวต้องเดือดร้อน เช่นนี้ก็ต้องพิจารณาว่าเราควรจะให้ความช่วยเหลือได้แค่ไหนถึงจะไม่เกินกำลังและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
บ่อยครั้งที่ขับรถอยู่แล้วเจอคนขับรถไม่ดี เช่นเลี้ยวปาดหน้า หรือทำผิดกฏจราจร เรามักจะรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตักเตือนหรือด่าว่าคนนั้น เช่น บีบแตร มองหน้า หรือปาดหน้าเอาคืน ทั้งๆที่เมื่อคิดดูดีๆแล้ว เราไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมกฏจราจร หรือสั่งสอนคนอื่นในเรื่องการขับรถ เราไม่ได้เป็นตำรวจจราจรที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการผู้ที่ทำผิดกฏ อีกทั้งตัวอย่างของความเดือดร้อนจากการขับรถก็มีให้เห็นในข่าวเกือบแทบทุกวัน บางกรณีก็ถึงชีวิตหรือถูกจำคุกกันเลยทีเดียวจากเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือหากเจอคนขับรถไม่ดีก็ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้คุมกฏเที่ยวไปต่อว่าใคร
ต่อไปจะพิจารณาเรื่องการประมาณตนให้สม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ตนเองต้องตกอยู่ในสถาณการณ์เดียวกับหิ่งห้อย จะมองให้เห็นความจริงถึงความสามารถถึงศักยภาพและความเหมาะสมของตนโดยไม่คิดเข้าข้างตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพยายามมองให้ทะลุผ่านความต้องการคำชมซึ่งเป็นปมที่มักจะผลักดันให้เราทำอะไรเพื่อหวังคำชมโดยไม่พิจารณาความจริงก่อนที่จะทำอะไรหรือช่วยเหลือใคร