จากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศมาทำข่าวมากมาย ซึ่งบางสื่อนอกจากจะเสนอข่าวเรื่องความยิ่งใหญ่ของพิธีแล้ว ยังเสนอข่าวเรื่องจำนวนงบประมาณที่ใช้ในการจัดพิธีนี้ด้วย ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และมีคอมเมนต์ในโลกโซเชียลจากชาวต่างชาติว่าเงินจำนวนนี้น่าจะนำไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า จึงเกิดการโต้กันไปมาระหว่างคนไทยที่พยายามจะอธิบายและคนต่างชาติที่แสดงความคิดเห็นในพื้นที่ข่าวเหล่านั้น ต่างคนก็พยายามที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจในสิ่งที่ตนกำลังอธิบาย แต่ต่อให้พยายามเท่าไรก็ตามคนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจอยู่ดี
ในฐานะคนไทยคนหนึ่งยอมรับเลยว่าตอนได้ดูพระราชพิธีนั้นไม่ได้คิดถึงจำนวนเงินที่ใช้ไปเลย เพราะความงดงามที่ได้เห็นนั้น ถือว่าทรงคุณค่า ประเมินค่าไม่ได้ เป็นความงดงาม ความยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรม ทำให้ความรู้สึกของความเป็นคนไทย ความสามัคคีของคนในชาติกลับคืนมาอีกครั้ง ในชีวิตนี้โอกาสที่จะได้เห็นพิธีที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้จะมีอีกหรือเปล่าไม่รู้ มันเป็นความรู้สึกที่อย่าว่าแต่คนต่างชาติจะไม่เข้าใจเลย ลูกสาวเราเองก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไม่แม่ถึงรักในหลวงมากมาย ทำไมต้องเศร้าโศกเสียใจเมื่อท่านสวรรคต ทำไมต้องจัดพีธีใหญ่โตและแม่ทำไมต้องอดหลับอดนอนนั่งดูถ่ายทอดสดขนาดนี้
ตั้งแต่เด็กจนโตเราโตมากับข่าวพระราชสำนัก ได้เห็นภาพพระองค์ท่านทรงงานเพื่อประชาชนตลอดมา เรียนวิชาสังคมศึกษาก็เรียนประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์หลายยุคหลายสมัย อยู่ในสังคมที่เทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์มาตลอด 40 กว่าปีจนความรู้สึกมันซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ลูกสาวเกิดมาในยุคที่ท่านไม่ได้ออกทรงงานแล้วเนื่องจากทรงพระประชวรบวกกับพระชนมายุที่มากขึ้น ได้เรียนประวัติศาสตร์ไทยเพียงผิวเผินเพราะในโรงเรียนนานาชาติจะสอนเป็นประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกา แสดงว่าเมื่อข้อมูลที่ลูกกับเราได้รับมันต่างกัน ความรู้สึกที่ออกมาก็เลยแตกต่างกันเพราะความเข้าใจในเรื่องเดียวกันนั้นไม่เหมือนกัน
ดังนั้นจะแปลกอะไรที่ชาวต่างชาติจะไม่เข้าใจและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาๆ เราเองก็เคยไม่เข้าใจอะไรหลายๆอย่าง เช่น เมื่อก่อนนี้จะต้องเตรียมตัวแต่งตัวแต่งหน้าให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกจากบ้านและไม่เคยเข้าใจบางคนที่ใส่ชุดอยู่บ้านหน้าตาผมเผ้าไม่เรียบร้อยออกมานอกบ้านเพราะเราอยู่ในสังคมที่รูปลักษณ์ภายนอกค่อนข้างมีความสำคัญ แต่เมื่อเรามาอยู่ที่อเมริกาที่ไม่ค่อยมีใครสนใจใครหรือรูปลักษณ์ของใคร อีกทั้งวันๆนึงก็ไม่ค่อยได้เจอใคร เราจึงได้เข้าใจว่าจริงๆแล้วการแต่งหน้าทำผมหรือเสื้อผ้าสวยงามไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเลย เราต่างหากที่ไปสร้างเงื่อนไขนี้ให้กับตัวเอง
หรือเมื่อครั้งไปเรียนต่อต่างประเทศ มี flatmate ชาวต่างชาติที่ไม่ได้อาบน้ำทุกวัน ส่วนเราต้องอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ตอนนั้นไม่เข้าใจเพื่อนคนนั้นเลยว่าทำได้อย่างไร ไม่รู้สึกเหนียวตัวหรือสกปรกบ้างหรือ เมื่อมานึกย้อนดู เพื่อนคนนั้นมาจากยุโรปซึ่งเป็นประเทศเมืองหนาวแต่เรามาจากเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน การดำรงชีวิตก็ย่อมต่างกันเพราะสภาพอากาศ และเมื่อเราได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่ Colorado ซึ่งอุณหภูมิติดลบเกือบทุกวันในช่วงหน้าหนาว เราจึงได้เข้าใจจริงๆว่า อาการหนาวจนไม่อยากอาบน้ำมันเป็นอย่างไร จากที่เคยอาบน้ำวันละ 2 ครั้งก็ต้องลดลงเหลือวันละครั้งเพราะความหนาวและเพื่อไม่ให้ผิวแห้งเกินไปจากการที่ต้องอาบน้ำอุ่นจัดๆตลอด
แสดงว่าความเข้าใจของแต่ละคนมันก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่เค้าได้รับมาก่อนหน้านี้มีมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องเดียวกันก็เป็นไปได้ที่จะเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น หาก flatmate คนนั้นมาพยายามอธิบายให้เราเข้าใจว่าทำไมจึงไม่อาบน้ำทุกวันในตอนนั้น เราก็คงจะไม่เข้าใจเพราะเราไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองหนาวเลย แต่ในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรสักคำเพราะเราได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าใจได้ด้วยตัวเอง
นึกไปถึงลูก บ่อยครั้งมากที่เราพยายามจะอธิบายอะไรแล้วเค้าไม่เข้าใจ บ่อยครั้งที่ในเรื่องเดียวกันกลับเข้าใจกันไปคนละทาง บ่อยครั้งที่ลูกพูดอะไรแล้วมันทำร้ายความรู้สึกของเราโดยที่ลูกเองก็ไม่เข้าใจว่าเค้าพูดอะไรผิดไป ก็เพราะข้อมูลที่เราและลูกมีมันไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งลูกสาวทั้ง 2 คนที่โตมาในครอบครัวเดียวกันเลี้ยงดูมาเหมือนกันการรับข้อมูลก็ยังต่างกัน ทำให้มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆไม่เหมือนกัน แล้วอย่างนี้เราจะหวังให้คนทั้งโลกมาเข้าใจประเทศไทยได้อย่างไร การอธิบายซ้ำๆหรือการขุดค้นข้อมูลทำนองเดียวกันของฝ่ายตรงข้ามมาโจมตีมันจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากสร้างศัตรู
ต่อไปหากเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างเรากับลูกหรือกับใครก็ตามคงจะอธิบายแต่หากอธิบายแล้วยังไม่เข้าใจก็คงต้องปล่อยไปเพราะข้อมูลที่เค้ามียังไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจ แต่หากวันใดที่เค้าได้รับข้อมูลเพียงพอแล้วความเข้าใจนั้นก็จะเกิดขึ้นเอง