ปมในใจ

เมื่อวันก่อนโรงเรียนหยุดลูกสาวคนโตจึงขอไปบ้านเพื่อน ตอนไปรับลูกก็ขึ้นรถมาแล้วเล่าโน่นนี่ สุดท้ายเล่าว่าแม่ของเพื่อนทำทาโก้ได้อร่อยมากจนเค้าทานไปตั้ง 3 ชิ้น ประโยคแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ พูดแบบนี้แสดงว่าเราทำไม่อร่อยใช่ไม๊ แต่ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปก็จับตัวเองได้ว่า คิดไปเองอีกแล้ว แปลความหมายคำพูดของลูกไปตามปมที่เรามีอยู่ในใจอีกแล้ว จึงพิจารณาใหม่ว่าการพูดของลูกเป็นเพียงการเล่าให้ฟังเท่านั้น คำพูดที่ตอบลูกออกไปจึงเปลี่ยนจากการประชดประชันด้วยความน้อยใจ เป็นการถามว่า รสชาติเป็นอย่างไรเหมือนไปกินที่ร้านไม๊ และเกิดการปรึกษากันว่า แม่เห็นมีเนื้อที่หมักแล้วสำหรับทำทาโก้โดยเฉพาะขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตไว้จะลองซื้อมาทำดู การสนทนาจึงจบลงด้วยดี

นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม มักจะมีผลกระทบต่อจิตใจที่มีปมของเรา ทำให้เกิดกระบวนการคิดไปเอง คิดเข้าข้างตัวเอง เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มองทุกอย่างจากมุมของตัวเองโดยมีปมในใจคอยกำหนดทิศทางความคิด ซึ่งปมใหญ่ในใจของเราคือ ต้องการคำชม ไม่ต้องการคำติ เมื่อลูกชมคนอื่นเรากลับตีความหมายว่าคำชมนั้นเป็นคำตำหนิที่ลูกตำหนิเรา ทั้งที่จริงๆแล้วความหมายของประโยคที่ลูกพูดสามารถตีความออกไปได้อีกหลายความหมาย แต่สิ่งที่คิดในตอนนั้นมีเพียงสิ่งเดียวคือ ลูกตำหนิเรา

ลองมาคิดดูว่าถ้าหากคนที่พูดเป็นคนอื่นบ้างหล่ะ เราจะรู้สึกอย่างไร ก็พบว่าถ้าคนพูดเป็นลูกคนเล็กหรือสามี เราคงไม่รู้สึกน้อยใจขนาดนี้ กับคนเล็กเราคงจะขำๆ เพราะลูกจะมีความสุขกับการกินและมักจะชมอาหารที่นั่นที่นี่ว่าอร่อยอยู่เสมอ กับสามีคงมีน้อยใจบ้างแต่ไม่มากเท่านี้ นี่แสดงว่าเราเอาความรู้สึกของเราที่มีต่อลูกไปใส่ในคำพูดของเค้าด้วยอย่างนั้นหรือ เรามักจะรู้สึกว่าลูกคนโตไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่เราทำให้ ชอบบ่น ชอบติ เราทำอะไรก็ไม่เคยดีพอสำหรับเค้า ดังนั้นเมื่อเค้าพูดอะไรออกมา เราก็เอาความรู้สึกนี้ไปวางไว้ทันที และความรู้สึกที่ว่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนความคิด ทำให้เกิดการคิดไปเองในมุมของตัวเองต่อไป

จากนั้นการคิดไปเองก็จะเป็นตัวกำหนดการกระทำที่เราจะแสดงออกมาจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งคำพูดที่เกือบจะพูดออกมาหลังจากได้ยินลูกชมแม่ของเพื่อนคือ “แสดงว่าแม่ทำไม่อร่อยใช่ไม๊ งั้นต่อไปแม่ไม่ทำแล้วละกัน” ตอนนี้เมื่อมองย้อนไป คำพูดเหล่านั้นเป็นคำพูดที่เต็มไปด้วยความน้อยใจ พาลและไม่มีเหตุผล แสดงถึงปมในใจของเราชัดเจน เมื่อลองนึกถึงเรื่องที่ทำให้เราทะเลาะกับลูกบ่อยๆ ก็มักจะมีเหตุเกิดจากคำพูดไม่ว่าจะของเราหรือของลูก ที่ไปสะกิดปมในใจของอีกฝ่าย และต่างก็ทุ่มเถียงเอาชนะกันเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจในมุมของตัวเองโดยไม่มีใครยอมใครจนเรื่องราวบานปลายทุกครั้ง

เมื่อเราจับตัวเองได้และรู้ว่าปมในใจกำลังมีอิทธิพลกับความคิดและการกระทำของเรา และเมื่อเห็นว่าปมในใจคือต้นเหตุของความเป็นทุกข์ไม่ใช่คำพูดที่เราได้ยิน กระบวนการทางความคิดของเราก็เปลี่ยนไป กลายเป็นความคิดถึงความเป็นจริงมากขึ้น คิดถึงมุมอื่นๆมากขึ้นแทนที่จะคิดแต่จากมุมของตัวเอง เมื่อเห็นความจริงก็จะเกิดการยอมรับความเป็นจริง ซึ่งต่อให้ลูกจะพูดเพื่อตำหนิว่าเราทำไม่อร่อยเราก็ยอมรับได้ว่าลูกชอบแบบที่แม่ของเพื่อนทำมากกว่าที่เราทำโดยไม่รู้สึกโกรธอะไร การกระทำที่ออกมากจึงออกมาในทางเป็นมิตร ไม่หาเรื่อง ไม่ประชดประชัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเรากับลูกบ่อยครั้ง

ไม่น่าเชื่อว่าปมในใจจะมีผลต่อการกระทำของเราทุกขณะจิตขนาดนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาวะอารมณ์แบบไหนปมในใจก็พร้อมจะเข้ามาทำให้เกิดความขุ่นมัวในใจได้ตลอดเวลา เพราะอย่างนี้อารมณ์ของเราจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว มิน่าบางครั้งคุยกันหัวเราะสนุกสนานอยู่ดีๆ พอลูกพูดคำที่ผิดหูออกมาก็กลายเป็นโกรธมากมายได้ทันที เพราะมันมักจะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำทั้งๆที่ไม่มีใครทำอะไรเราเลย เราต่างหากที่เก็บเอาปมในใจมาคอยทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างตลอดมา

และก็ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่า เพียงแค่เราเข้าใจว่าปมในใจของเราคืออะไร เกิดจากอะไร และจากการได้ผ่านการทำความเข้าใจและแก้ไขปมนั้นมาสักพักแล้ว เมื่อเกิดความขุ่นใจ ไม่พอใจ หรือแม้แต่เกิดความพอใจในเรื่องใดๆก็ตาม เราจะเห็นได้โดยอัตโนมัติว่า อารมณ์เหล่านั้นเกิดจากปมในใจ และจะเห็นอีกว่าอารมณ์ ความรู้สึกนั้นๆ จะกระตุ้นให้เกิดความคิดปรุงแต่งเพื่อสนับสนุนความรู้สึกที่มีและก่อให้เกิดการกระทำเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อไป ดังนั้นหากเราจับตัวเองได้ว่ากำลังเกิดความรู้สึกที่มีต้นเหตุมาจากปมในใจ เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำของเราไปได้ภายในช่วงเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาที

ต่อไปจะพยายามจับตัวเองเมื่อเกิดความรู้สึกอะไรก็ตาม พยายามหาสาเหตุที่แท้จริงของความรู้สึกนั้นๆ ซึ่งหากเกิดจากปมในใจก็จะทำความเข้าใจ มองให้เห็นและยอมรับความเป็นจริงเพื่อแก้ไขกระบวนความคิดและเพื่อให้การกระทำให้ออกมาดีขึ้น เหมาะสมขึ้น รวมทั้งหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปมใหญ่ที่มีในใจต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *