MahaJanaka P1

ได้ฟังคลาสธรรมะนิทานชาดกเรื่อง MahaJanaka หรือ พระมหาชนก ระหว่างที่พระอาจารย์เล่าถึงเนื้อหาของเรื่อง มีสะดุดใจอยู่ 2 ตอนคือตอนที่ พระโปลชนกที่รอดพ้นจากการจับกุมไปได้แล้ว กลับหวนคืนมาล้างแค้นพี่ชายและกล่าวว่า เดิมทีนั้นไม่ได้คิดร้ายกับพี่ชายเลยแต่ในตอนนี้คิดและในที่สุดก็ลงมือฆ่าพี่ชายของตนเอง กับตอนที่พระมหาชนกในวัยเด็กที่โดนล้อว่าเป็นลูกหญิงหม้ายทำให้โกรธมาก แต่เมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับพ่อของตนแล้วจึงไม่มีเรื่องคาใจและไม่โกรธคนที่มาล้ออีกเลย

ในเรื่องของพระโปลชนกที่กลับมาล้างแค้นพี่ชายนั้น รู้สึกสะดุดใจว่าเหตุใดพระโปลชนกถึงได้ตัดสินใจกลับมาแย่งราชบัลลังค์ของพี่ชายทั้งๆที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อน เลยลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราหากเจอกับเหตุการณ์เดียวกัน สิ่งแรกที่เราจะรู้สึกก็คือรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิดแต่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ช่างไม่ยุติธรรมเราเป็นผู้ถูกกระทำ เมื่อรู้สึกเช่นนี้มุมมองของเราก็จะเป็นมุมที่มองออกไปจากตัวเราและเป็นมุมที่เข้าข้างตัวเองส่งผลต่อความคิดและการเลือกการกระทำที่จะทำต่อไป เมื่อรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและถูกกระทำ ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดความคิดแก้แค้นเพื่อทวงความยุติธรรมคืนมา

นึกถึงตอนที่เราถูกตำหนิและเปรียบเทียบเรื่องลูกซึ่งทำให้เราเศร้าซึมและเป็นทุกข์อยู่หลายสัปดาห์ ความรู้สึกของเราตอนนั้นคือ โกรธ โทษทั้งลูกทั้งคนตำหนิ คนเดียวที่เราไม่โทษในตอนนั้นคือตัวเราเอง เห็นแต่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเห็นแต่ความไม่ยุติธรรม คิดแต่ว่าทำไมไม่มีใครนึกถึงความรู้สึกเราบ้าง เมื่อรู้สึกว่าถูกกระทำก็เกิดความสงสารตัวเองห่วงตัวเอง ส่งผลให้สิ่งที่คิดที่จะทำในตอนนั้นก็มีแต่จะว่าเค้ากลับได้อย่างไร จะต่อว่าลูกอย่างไร จะใช้คำพูดทำร้ายผู้อื่นและแก้ไขผู้อื่นได้อย่างไร และแน่นอนความคิดที่จะค้นหาว่า ที่เราทุกข์เป็นเพราะเราเข้าใจอะไรผิดไปหรือไม่ก็ไม่เกิดขึ้นเลย เพราะมุมมองทั้งหมดที่มีนั้น เรามองออกจากตัวและเข้าข้างตัวเองอย่างเดียว

เมื่อนึกไปถึงคุณแม่ของลูกศิษย์ของพระอาจารย์ที่โดนโกงและไม่สามารถหาทางที่จะหลุดออกจากความทุกข์นั้นได้ เอาแต่เศร้าซึมไม่กินไม่นอนทำแต่สิ่งที่ทำร้ายตัวเอง ก็คงเป็นในทำนองเดียวกันเพราะท่านมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมที่ท่านเป็นผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่เมื่อถามว่าถ้าหากลูกสาวของท่านเลิกกับแฟนแล้วเสียใจมากหล่ะ ท่านจะแนะนำอย่างไร ท่านกลับมองเห็นทางออกได้ทันทีเพราะในกรณีนั้นท่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ท่านจึงมองเหตุการณ์นั้นได้หลายมุมตามความจริงมากขึ้น

นี่แสดงว่าการที่เราปล่อยให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำอาจจะทำให้เราตัดสินใจกระทำความผิดร้ายแรงทั้งที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนดังเช่นที่พระโปลชนกลงมือฆ่าพี่ชายตัวเองก็เป็นได้ น่ากลัวและอันตรายมาก ตอนนั้นต้องยอมรับว่ามองไม่เห็นทางที่จะออกจากทุกข์ตรงนั้นได้เลย จนกระทั่งได้รับคำตักเตือนจากครูบาอาจารย์จึงทำให้เห็นว่า ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความห่วงตัวเอง เกิดจากการยึดตนและของของตนทั้งสิ้น จากนั้นถึงจะได้เห็นทางแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับเรื่องที่พระมหาชนกได้รู้ความจริงเรื่องพ่อของตน เกิดสะดุดใจว่าด้วยวัยของพระมหาชนกขณะนั้นยังถือว่าเด็กมากเกินกว่าจะเข้าใจเรื่องที่ใหญ่ขนาดนั้นได้ การได้รู้ความจริงอาจจะทำให้หายคาใจแต่สิ่งที่ทำให้พระมหาชนกอยู่กับการถูกเรียกว่าลูกหญิงหม้ายต่อไปได้ น่าจะเป็นการยอมรับความจริง การมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงทำให้เกิดความเข้าใจ เมื่อรับความจริงได้ว่าพ่อตนเองเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นการที่ถูกเรียกว่าลูกหญิงหม้ายก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน

เราเองโกรธมากเมื่อได้ยินคนมาตำหนิว่าเราควบคุมลูกตัวเองไม่ได้ เพราะเราเห็นผิดไปว่าลูกเป็นของเรา เราควรที่จะควบคุมเค้าได้ ดังนั้นเมื่อมีคนมาว่าเราเลยไม่พอใจ แต่ถ้าคิดย้อนไปดีๆ สิ่งที่เค้าพูดนั้นคือความจริง เราควบคุมลูกไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เพิ่งจะควบคุมไม่ได้เพราะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแต่เราควบคุมเค้าไม่ได้มานานแล้ว เค้ามีความเป็นตัวของตัวเอง อยากลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมานานแล้ว ดังนั้นที่เค้าพูดว่าเราควบคุมลูกไม่ได้มันคือความจริงแต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับความจริงนี้ได้อย่างไร

จริงๆแล้วการที่เราควบคุมลูกไม่ได้นี่แหล่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราทุกข์มากมายจนได้มาพบกับครูบาอาจารย์เพื่อขอความช่วยเหลือ ถ้าหากลูกเราเป็นคนที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของเราทุกอย่างเราคงไม่ได้มาพบกับการปฏิบัติสายนี้ ป่านนี้คงยังลุ่มหลงกับการควบคุมลูกให้เป็นอย่างที่ต้องการต่อไป ถามว่าเราอยากให้ลูกอยู่ในความควบคุมของเราจริงหรือ ณ ตอนนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เราพาลูกมาเรียนที่นี่ก็เพราะต้องการให้เค้าดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองและอยู่ได้ด้วยตัวเองเมื่อเราจากไป ดังนั้นการที่เค้าต่อว่าเราว่า เราไม่สามารถควบคุมลูกตัวเองได้ ก็คือความจริงและเป็นความจริงที่เราต้องการด้วยซ้ำ เมื่อมองเห็นได้ดังนี้ ถ้าหากมีใครมาว่าเราทำนองนี้อีก เราก็คงไม่โกรธดังเช่นที่พระมหาชนกยอมรับความจริงเรื่องการเป็นลูกหญิงหม้ายได้เช่นกัน

ต่อไปเมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจทำให้เป็นทุกข์ จะพิจารณาว่า เราทุกข์และมองไม่เห็นทางออกเป็นเพราะเราคิดว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำและมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมๆเดียวหรือเปล่า และ หากมีใครมาว่าหรือตำหนิให้เราไม่พอใจ จะพิจารณาให้เข้าใจว่า นั่นคือความจริงหรือไม่ พยายามมองให้เห็นความเป็นจริงเพื่อทำความเข้าใจและยอมรับหรือหากความจริงนั้นต้องการการแก้ไข ก็จะยอมรับและมุ่งหน้าแก้ไขต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *